วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2555


                                      
ฟอสซิลโครงกระดูกของพลิซิโอซอร์ ซึ่งมีลูกน้อย (กระดูกสีส้ม) อยู่ในท้องแม่ (บีบีซีนิวส์)

ฟอสซิลสัตว์เลื้อยคลานในทะเลท้องแก่ไม่เพียงให้ข้อมูลใหม่แก่นักวิทยาศาสตร์ว่า “พลีซิโอซอร์” เป็นสัตว์เลื้อยคลานในยุคไดโนเสาร์คลอดลูกเป็นตัวเท่านั้น แต่ลักษณะตัวอ่อนที่พบยังบ่งชี้ว่าสัตว์เลื้อยคลานในน้ำสายพันธุ์นี้ยังมีวิธีเลี้ยงดูลูกอย่างทะนุถนอมแบบเดียวกับวาฬและโลมาด้วย 
       นักวิทยาศาสตร์ทราบดีว่าสัตว์เลื้อยคลานในทะเลที่สูญพันธุ์ไปแล้วอย่าง อิชธิโอซอร์ (ichthyosaur) โมซาซอร์ (mosasaur) และชอริสโตเดอรัน (choristoderan) ออกลูกเป็นตัว แต่เป็นครั้งแรกที่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า พลีซิโอซอร์ (plesiosaur) สัตว์เลื้อยคลานทะเลในยุคไดโนเสาร์สายพันธุ์ พอลิคอไทลัส ลาทิพพินัส (Polycotylus latippinus) ออกลูกเป็นตัวเช่นกัน
       เนเจอร์นิวส์รายงานว่า ฟอสซิลของพลีซิโอซอร์วางนิ่งอยู่ในชั้นใต้ดินของพิพิธภัณฑ์โดยไม่ได้รับการตรวจสอบมากเกือบ 25 ปี แต่เมื่อตรวจสอบพบว่า ฟอสซิลของสัตว์ยุคไดโนสาร์ชนิดนี้มีตัวอ่อนขนาดใหญ่ที่มีความยาว 150 เซนติเมตรอยู่ในร่างของแม่ที่มีความยาว 470 เซนติเมตร โดยตัวอ่อนมีกระดูกสันหลัง 20 ข้อ มีไหล่ สะโพกและกระดูกครีบให้เห็น ซึ่งเชื่อว่าตัวอ่อนเจริญเติบโตมาได้ 2 ใน 3 ของระยะก่อนออกมาดูโลกภายนอกแล้ว และการค้นพบครั้งนี้ยังได้เผยแพร่ลงวารสารวิชาการไซน์ (Science)
        “เรารู้จักพลีซิโอซอร์มาเกือบ 200 ปี แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่เคยพบฟอสซิลของพลีซิโอซอร์ท้องมาก่อน” ความเห็นจาก โรบิน โอ'คีฟ (Robin O'Keefe) นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยมาร์แชล (Marshall University) ในฮันทิงตัน รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย สหรัฐฯ ผู้ร่วมวิเคราะห์ฟอสซิลอายุ 78 ล้านปีกับ หลุยส์ ไชอาปเป (Luis Chiappe) จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (Natural History Museum) ในเคาน์ตีลอสแองเจลิส ลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย
        การออกลูกเป็นตัวและมีตัวอ่อนขนาดใหญ่นี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า พลีซิโอซอร์ต้องมีพฤติกรรมเลี้ยงดูลูกอย่างทนุถนอม โดย โอ'คีฟได้อธิบายให้เห็นภาพว่า แม่ของสัตว์ในยุคปัจจุบันอย่างช้าง วาฬ โลมา และรวมถึงมนุษย์ด้วยนั้นมีทายาทตัวโตเพียงไม่กี่ตัว และเมื่อเราโยนความเสี่ยงทั้งหมดลงในตะกร้าใบเดียวด้วยการมีลูกแค่หนึ่งเดียว จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ยากหากเราจะทุ่มเทความรักทั้งหมดให้ลูกน้อย
       
       โอ'คีฟชี้เฉพาะลงไปอีกว่า พลีซิโอซอร์อาจมีพฤติกรรมเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลยุคปัจจุบัน ที่อาศัยอยู่รวมกลุ่มและมีชีวิตสังคมเพื่อปกป้องตัวอ่อน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แตกต่างจากสัตว์เลื้อยคลานในทะเลอื่นๆ ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ทั้งนี้ ฟังดูไม่สมเหตุสมผลนักว่า ลูกสัตว์เลื้อยคลานพันธุ์นี้พร้อมที่จะดูแลตัวเองทันทีหลังเกิดมาแล้ว เพราะกระดูกของตัวอ่อนบ่งชี้ว่า ลูกพลิซิโอซอร์นั้นไม่มีลักษณะทางกายภาพที่พึ่งพาตัวเองหลังเกิด
       
                                               
ภาพวาดจำลองการเลี้ยงดูลูกของพลิซิโอซอร์ (เนเจอร์)
       อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันมีสัตว์เลื้อยคลาน 2-3 ชนิด อย่างเช่นจิ้งเหลนบางสายพันธุ์ก็ออกลูกที่มีขนาดตัวใหญ่ออกมาไม่กี่ตัว และยังแสดงพฤติรรมทางสังคมคล้ายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกด้วย
        ในส่วนของ ไมเคิล เอเวอร์ฮาร์ท (Michael Everhart) ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลื้อยคลานทางทะเลก่อนยุคประวัติศาสตร์ จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาสเติร์นเบิร์ก (Sternberg Museum of Natural History) ในเฮย์ส คันซัส สหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า ตัวอย่างฟอสซิลพลีซิโอซอร์นั้นเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น และได้ช่วยตอบคำถามที่ค้างคามาหลายปี แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าสัตว์เลื้อยคลานพันธุ์นี้มีพฤติกรรมทางสังคมและการสืบสายพันธุ์ที่แตกต่างจากสัตว์เลื้อยคลายทะเลชนิดอื่นๆ ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว โดยเขาอยากเห็นตัวอย่างมากกว่านี้อีกสัก 10 กว่าตัวอย่าง
        สำหรับตัวอย่างฟอสซิลพลิซิโอซอร์ตัวอย่างนี้ถูกค้นพบในคันซัสเมื่อปี ค.ศ.1987 โดยนักล่าฟอสซิลอิสระ และได้ถูกบริจาคให้แก่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในเคาน์ตีลอสแองเจลิส ซึ่งเป็นสถานที่ตัวอย่างฟอสซิลถูกวางกองไว้ และเมื่อปีที่ผ่านมามีการตัดสินใจว่า ถึงเวลาที่ฟอสซิลนี้จะถูกนำไปจัดแสดงเสียที จากนั้นก็มีการส่งมอบเงินทุนเพื่อการเตรียมตัวอย่างและจัดแสดง และตอนนี้ฟอสซิลพลิซิโอซอร์ก็ถูกย้ายไปแสดงในโถงแสดงไดโนเสาร์ใหม่ของพิพิธภัณฑ์...



ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th :  12 สิงหาคม 2554 14:15 น.



read more "แปลก พบสัตว์เลื้อยคลานยุคไดโนเสาร์ไม่วางไข่แต่ออกลูกเป็นตัว"

                                 




   กระดูกสันหลังส่วนหางของไดโนเสาร์ซอโรพอด ในมุมมองด้านหน้า (a,d) ด้านข้าง (b,e) และด้านหลัง (c,f) โดยเปรียบเทียบระหว่าง (แถวบน) ภาพถ่าย และ (แถวล่าง) ภาพวาด (ไซน์เดลี/The Science of Nature)   



แม้ว่า “ซอโรพอด” คือไดโนเสาร์กินพืชที่มีความหลากหลายของสายพันธุ์และพบกระจายอยู่ทั่วทุกทวีป แต่เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ได้พบซากฟอสซิลของไดโนเสาร์ประเภทนี้ในทวีปแอร์ตาร์กติกา 
       ทั้งนี้ ซอโรพอด (Sauropoda) คือ ไดโนเสาร์ที่มีความหลากหลายมากที่สุดเป็นอันดับ 2 โดยไซน์เดลีระบุว่า มีสายพันธุ์ที่จำแนกได้ทั้งหมด 150 สปีชีส์ ซึ่งในจำนวนนั้นรวมถึงสายพันธุ์ที่เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ที่สุดที่อาศัยอยู่ยนโลกด้วย และแม้ว่าจะมีซากซอโรพอดจำนวนมากถูกค้นพบในอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลียและยุโรป แต่ยังไม่เคยมีบันทึกว่าค้นพบซอโรพอดในทวีปแอนตาร์กติกาเลย ขณะที่ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมามีการค้นพบไดโนเสาร์ชนิดสำคัญอื่นๆ ในขั้วโลกใต้มาแล้ว
       ดร.อิกนาซิโอ อเลฮันโดร เซอร์ดา (Dr. Ignacio Alejandro Cerda) จากสภาวิจัยวิทยาศาสตร์และวิชาการเฉพาะด้านอาร์เจนตินา (National Scientific and Technical Research Council) หรือ โคนิเซท (CONICET) ในอาร์เจนตินา ได้รายงานการค้นพบซอโรพอดในแอนตาร์กติกาลงวารสารเดอะไซน์ออฟเนเจอร์ (The Science of Nature) ซึ่งเป็นการค้นพบไดโนเสาร์กินพืชชนิดนี้เป็นครั้งแรกขั้วโลกใต้ โดยพวกเขาได้ค้นพบกระดูกสันหลังตอนกลางของหางที่ไม่สมบูรณ์ ที่เกาะเจมส์รอสส์ (James Ross Island)
       ทีมวิจัยจำแนกไดโนเสาร์ที่พบให้เป็น “ไททานอซอร์” (titanosaur) ซึ่งเป็นกลุ่มซอโรพอดที่โดดเด่นและกำเนิดขึ้นในยุคครีเทเชียสตอนต้น (Early Cretaceous) และอยู่มาจนถึงการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ที่บินไม่ได้ในยุคครีเทเชียสตอนปลาย (Late Cretaceous) และแม้ว่าไดโนเสาร์ชนิดนี้จะเป็นซอโรพอดที่แพร่กระจายมากที่สุด แต่เราก็ยังไม่เข้าใจถึงกำเนิดและการแพร่กระจายของสายพันธุ์มากนัก
       “การค้นพบของเรา และรายงานที่ตามมาเกี่ยวกับซากไดโนเสาร์ซอโรพอดเหล่านี้ในแอนตาร์กติกาได้เพิ่มองค์ความรู้ของเราในเรื่องไดโนเสาร์ประจำถิ่นระหว่างยุคปลายครีเทเชียสของทวีปแห่งนี้” ทีมวิจัยระบุในรายงาน โดยช่วงครีเทเชียสนั้นอยู่ในช่วง 65.5-99.6 ล้านปีก่อน โดยสิ้นสุดยุคเมื่อไดโนเสาร์สูญพันธุ์...



ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th : 21 ธันวาคม 2554 10:11 น.



read more "พบ ซอโรพอด ไดโนเสาร์กินพืชเป็นครั้งแรกในขั้วโลกใต้"

                                     แคธาลีนา แพรอท (Catalina Parot) รัฐมนตรีสมบัติชาติชิลี (ผู้หญิงใช้ไม้เท้า) ชมตัวอย่างฟอสซิลวาฬที่ขุดพบ (ภาพประกอบทั้งหมดจากเอพี)



 กว่า 2 ล้านปีก่อน ฝูงวาฬจำนวนมากได้มาออกันที่ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางอเมริกาใต้ และพบจุดจบปริศนาที่นั่น พวกมันอาจหลงทางและเกยตื้น หรือพวกมันอาจติดอยู่ในทะเลสาบเนื่องจากดินถล่มหรือพายุ หรือพวกมันอาจตายที่นั่นมานกว่า 2-3 พันปี หรือบางทีพวกมันอาจตายลงในที่ไม่ห่างจากตัวอื่นในฝูงเพียงไม่กี่เมตร แต่สุสานตรงพื้นทะเลถูกแรงยกทางธรณีวิทยาดันขึ้นมาแล้วแปรสภาพเป็นสถานที่อันแห้งแล้งที่สุดบนโลก 
       
       มาถึงวันนี้ซากวาฬเหล่านั้นได้โผล่ออกมาให้เห็นอีกครั้งบนยอดเนินของทะเลทรายอะทาคามา (Atacama Desert) ซึ่งเอพีระบุว่า นักวิจัยทั้งหลายได้เริ่มต้นขุดฟอสซิลของวาฬก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งถูกเก็บในสุสานเก็บรักษาซากได้อย่างดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยนักวิทยาศาสตร์ของชิลีได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยจากสถาบันสมิทโซเนียน (Smithsonian Institution) สหรัฐฯ เพื่อศึกษาว่า วาฬเหล่านี้มาอยู่ในมุมของทะเลทรายดังกล่าวได้อย่างไร 
       
       “นั่นเป็นคำถามสำคัญ” มาริโอ ซอเรซ (Mario Suarez) ผู้อำนวยการจากพิพิธภัณฑ์บรรพชีวินวิทยา (Paleontological Museum) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงของชิลีประมาณ 700 กิโลเมตรกล่าว
       
                                      นักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์บรรพชีวินวิทยาชิลีที่ไซต์งานขุดฟอสซิล
       ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า วาฬก่อนประวัติศาสตร์อื่นๆ ถูกพบอยู่รวมกันในเปรูและอียิปต์ แต่ฟอสซิลของวาฬโบราณในชิลีกลับโผล่ออกมาพร้อมกับจำนวนอันน่าฉงนและกระดูกที่ถูกเก็บรักษาไว้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ ถึงตอนนี้มีวาฬมากกว่า 75 ตัวแล้วที่ถูกขุดพบ ในจำนวนนั้นเป็นโครงกระดูกที่สมบูรณ์มากกว่า 20 โครงกระดูก ซึ่งโครงกระดูกเหล่านี้ได้ฉายให้เห็นภาพชีวิตแห่งท้องทะเลในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งอาจจะรวมถึงกลุ่มครอบครัวที่มีลูกวาฬอยู่ระหว่างวาฬเต็มวัย 2 ตัว
       “ผมคิดว่ามันน่าจะตายพร้อมกันในจำนวนมากกว่าหรือน้อยกว่านี้” นิโคลัส เพียนสัน (Nicholas Pyenson) ภัณฑารักษ์ด้านฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลุกด้วยนมทางทะเลจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาสมิทโซเนียน (Smithsonian's National Museum of Natural History) ซึ่งร่วมกับซอเรซทำการวิจัยครั้งนี้กล่าว แต่เหตุใดจึงมีวาฬมาตายในที่เดียวกันมากขนาดนี้เพียนสันให้ความเห็นว่ามีความเป็นไปได้หลายอย่าง ซึ่งเขาและทีมพยายามตรวจสอบในข้อสันนิษฐาน
     
                                  ริมทางหลวงกลายเป็นจุดที่พบสุสานวาฬดึกดำบรรพ์ขนาดใหญ่      
       ฟอสซิลเหล่านี้โผล่ขึ้นมาเมื่อเดือน มิ.ย.53 ระหว่างโครงการขยายทางหลวง ซึ่งโครงการนี้ยังดำเนินต่อไปอยู่ ส่วนบริเวณที่พบฟอสซิลข้างทางหลวงตอนนี้มีพื้นที่เทียบเท่าสนามฟุตบอล 2 สนาม หรือประมาณความยาว 240 เมตร กว้าง 20 เมตร
        เพียนสันกล่าวว่า ครั้งหนึ่งนั้นจุดดังกล่าวมี “สภาพแวดล้อมคล้ายทะเลสาบ” และวาฬเหล่านั้นอาจจะตายในช่วงเวลาระหว่าง 2-7 ล้านปีก่อน โดยฟอสซิลส่วนใหญ่เป็นของ “วาฬกรองกิน” (baleen whale) ซึ่งมีความยาวประมาณ 8 เมตร และทีมวิจัยยังพบโครงกระดูกของวาฬหัวทุย (sperm whale) และซากของโลมาที่ตอนนี้สูญพันธุ์ไปแล้ว โดยโลมาดังกล่าวมีงา 2 ข้างคล้ายสิงโตทะเล และก่อนหน้านี้เคยพบโลมาดังกล่าวในเปรูเท่านั้น
        “เราตื่นเต้นมากกับเรื่องนี้ มันเป็นสัตว์ที่แปลกประหลาดมาก” เพียนสันกล่าว และยังมีสัตว์แปลกๆ พบในทะเลทรายอะทาคามานี้อีก ซึ่งรวมถึงหมีสลอธน้ำ (aquatic sloth) ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว และนกทะเลที่มีปีกกว้าง 5 เมตร ซึ่งใหญ่กว่าแร้งขนาดใหญ่
       


       ทางด้าน เอริช ฟิตซ์เจรัลด์ (Erich Fitzgerald) นักบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังจากพิพิธภัณฑ์วิคตอเรีย (Museum Victoria) ในเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ให้ความเห็นแก่เอพีว่า การค้นพบล่าสุดนี้สำคัญอย่างยิ่ง ฟอสซิลเหล่านั้นถูกเก็บรักษาไว้อย่างยอดเยี่ยมและค่อนข้างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นการผสมผสานกันที่หาได้ยากในบรรพชีวินวิทยา และเป็นสิ่งที่จะเผยให้เห็นหลายมุมมองของนิเวศวิทยาและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต และบอกด้วยว่าเป็นไปได้ที่ฟอสซิลซึ่งหลงเหลืออยู่นี้อาจจะสะสมในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องกันมานาน
       
       ส่วน ฮันส์ เธวิสสัน (Hans Thewissen) ศาสตราจารย์ด้านกายวิภาคและผู้เชี่ยวชาญด้านวาฬยุคดึกดำบรรพ์ จากมหาวิทยาลัยการแพทย์นอร์ธอีสต์โอไฮโอ (Northeast Ohio Medical University) เห็นด้วยกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากออสเตรเลีย แต่เขากล่าวถึงอีกแนวทางที่เป็นไปได้นั่นคือวาฬอาจมารวมกันในทะเลสาบขนาดใหญ่ แล้วเกิดแผ่นดินไหวหรือพายุที่ปิดสามารถอุดทางออกของมหาสมุทรทั้งหมดได้ จากนั้นทะเลสาบก็เริ่มแห้งและวาฬก็ตาย เขายังพูดอีกว่าการสะสมของกระดูกที่สมบูรณ์จำนวนมากนี้เป็นสิ่งที่ไม่พบได้บ่อยนัก
       


       “หากเหตุการณ์นี้เป็นผลจากทะเลสาบแห้งเหือดแล้ว คุณจะต้องเห็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าน้ำในมหาสมุทรระเหยไป อย่างเช่นการตกผลึกของเกลือหรือยิปซัมในหิน หรืออีกแง่หนึ่งหากคลื่นยักษ์หรือพายุที่ซัดวาฬไปติดชายหาด ขณะเดียวกันก็ดันพื้นทะเลที่อยู่รอบๆ และคุณจะต้องเห็นรอบขุดบนหิน” เธวิสสันซึ่งไม่มีส่วนร่วมในงานวิจัยนี้กล่าว
       ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการระบุอายุฟอสซิลนั้นเป็นเรื่องซับซ้อน และเป็นเรื่องยากในการแยกเวลาที่แน่ชัดพอที่จะประเมินวาฬทั้งหมดนั้นตายในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งนี้ ฟอสซิลส่วนมากได้ถูกขนส่งไปยังพิพิธภัณฑ์ที่ซอเรซทำงาน ซึ่งเขาบอกด้วยว่าทีมวิจัยของเขาทำงานอย่างเร่งรีบอยู่ในกระโจมเพื่อเก็บข้อมูลโครงกระดูกที่สมบูรณ์ และด้วยทุนวิจัยจากสมาคมเนชันนัลจีโอกราฟิก (National Geographic Society) ทางทีมวิจัยสมิทโซเนียนได้ใช้เทคนิคการถ่ายภาพที่ซับซ้อนและเครื่องสแกนเลเซอร์เพื่อจับภาพ 3 มิติของวาฬ ซึ่งสามารถนำไปสร้างแบบจำลองขนาดของวาฬขณะที่มีชีวิต
       
       ซอเรซนั้นทราบเรื่องเกี่ยวกับกระดูกวาฬโบราณทางตอนเหนือเมืองคัลเดอราของชิลีมากนาน โดยฟอสซิลเหล่านั้นเห็นได้จากที่โผล่ออกจากสันเขาหินทรายขนาบเส้นทางหลวงตรงจุดที่เรียกว่า “เซอร์โรบัลเลนา” (Cerro Ballena) หรือ เนินเขาวาฬ (Whale Hill) และเมื่อโครงการขยายถนนเริ่มต้นเมื่อปีที่ผ่านมา ทางบริษัทรับเหมาก็ขอให้เขาไปตรวจดูการทำงานเพื่อช่วยป้องกันการทำลายฟอสซิล
        “ในสัปดาห์แรกนั้นกระดูกวาฬ 6-7 โครงก็ปรากฏขึ้น เราจึงตระหนักว่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่พิเศษจริงๆ” ซอเรซกล่าว
        ทางด้านรัฐบาลชิลีเองได้ประกาศให้พื้นที่ขุดฟอสซิลดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ต้องได้รับการปกป้อง ซึ่งเพียนสันนักวิจัยชิลีหวังว่าจะมีการสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อจัดแสดงโครงกระดูกที่ไม่เสีย ณ ตำแหน่งที่ฟอสซิลนั้นอยู่ ในรูปแบบเดียวกับการจัดแสดงฟอสซิลที่อนุสาวรีย์ไดโนเสาร์สหรัฐฯ (Dinosaur National Monument) ในยูทาห์และโคโลราโด สหรัฐฯ
       
       ซอเรซเชื่อว่าอาจยังมีฟอสซิลของวาฬอีกหลายร้อยที่รอการขุดพบ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากพอให้เขาทำงานที่จุดเดียวนี้ไปตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ และพวกด้วยว่า พวกเขาได้รับโอกาสพิเศษในการพัฒนาโครงการทางวิทยาศาสตร์อันยิ่งใหญ่และสร้างผลงานที่สำคัญยิ่งให้แก่วงการวิทยาศาสตร์...



ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th : 22 พฤศจิกายน 2554 00:40 น.



read more "ฟอสซิล ฝูงวาฬปริศนา โผล่กลางทะเลทราย"




บีบีซีนิวส์/เอพี/เอเยนซี - นักวิทยาศาสตร์อังกฤษ-สหรัฐฯ เผยฟอสซิลที่พบในมาดากัสการ์เป็นของกบยักษ์ที่มีชีวิตเมื่อกว่า 70 ล้านปีมาแล้ว ตัวใหญ่เท่าลูกบอล หนักถึง 4 กิโลกรัม สันนิษฐานกินได้แม้กระทั่งลูกไดโนเสาร์เกิดใหม่ ตั้งชื่อให้เป็น "กบนรก"
       
       ฟอสซิลกบที่ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London: UCL) แห่งอังกฤษและมหาวิทยาลัยสโตนีบรูก (Stony Brook University) แห่งสหรัฐอเมริกาค้นพบในมาดากัสการ์เมื่อปี 2536 นั้น ได้ข้อสรุปแล้วว่าเป็นฟอสซิลของสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 65-70 ล้านปีมาแล้ว โดยมีความยาวลำตัว 40 เซนติเมตร ขนาดพอๆ กับลูกโบว์ลิง และหนักถึง 4 กิโลกรัม นับเป็นกบใหญ่ที่สุดที่เคยพบ
       
       ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งชื่อให้กบนี้ว่า "บีลซีบูโฟ" (Beelzebofo) ซึ่งหมายถึง "กบที่มาจากนรก" โดยเป็นการผสมคำระหว่าง "บีลซีบุบ" (Beelzebub) ซึ่งเป็นภาษากรีกที่มีความหมายว่า "ปีศาจ" และคำว่า "บูโฟ" (bufo) ซึ่งหมายถึงสัตว์เลื้อยคลานจำพวกกบ คางคก จิ้งเหลนซึ่งกินแมลงเป็นอาหาร
       
       ทั้งนี้กบดึกดำบรรพ์ดังกล่าวมีความแตกต่างอย่างชัดเจนกับกบปัจจุบันที่อาศัยในบริเวณที่พบฟอลซิล
       
       ตามข้อมูลจากเดวิด เคราส์ (David Krause) นักบรรพชีวินวิทยาจากสหรัฐฯ ที่ร่วมค้นพบฟอสซิลกบชนิดนี้ชี้ให้เห็นว่า โครงสร้างปากของกบโบราณนี้แสดงถึงปากที่กว้างและขากรรไกรที่ทรงพลัง รวมทั้งยังมีฟัน และยังมีลักษณะทางกายภาพที่มีกะโหลกค่อนข้างหนา ดังนั้นสัตว์เลื้อยคลานดึกดำบรรพ์นี้อาจไม่ได้กินอาหารอย่างพร่ำเพรื่อ และสันนิษฐานว่ากบชนิดนี้กินลูกไดโนเสาร์เกิดใหม่เป็นอาหาร
       
       "เป็นไปได้ว่ากบปิศาจนี้จะสามารถฉีกกินกิ้งก่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กบตัวเล็กๆ และด้วยขนาดของมันเป็นไปได้ว่ามันอาจกินได้แม้กระทั่งไดโนเสาร์ที่เพิ่งฟักตัวออกจากไข่" เคราส์กล่าว
       
       ด้านซูซาน อีวานส์ (Susan Evans) นักวิจัยจากภาควิชาเซลล์และชีววิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน เสริมว่ากบโบราณนี้ค่อนข้างมีพฤติกรรมโหดร้ายและมีความสัมพันธ์กับกบมีเขา (Horned frog) ในปัจจุบันซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า "เซราโทไฟร์ส" (Ceratophys) โดยกบยุคไดโนเสาร์นั้นมีขาสั้นและปากใหญ่ ซึ่งหากกบชนิดนี้มีลักษณะร่วมเช่นเดียวกับกบพันธุ์ปัจจุบันคือมีความก้าวร้าวและพฤติกรรมซุ่มโจมตีเหยื่อแล้ว กบนรกนี้ก็นับเป็นนักล่าที่น่าเกรงขามสำหรับสัตว์เล็กๆ
       
       เคราส์เพิ่มเติมว่าความใกล้เคียงกับกบมีเขาในอเมริกาใต้และความเชื่อมโยงในวงศ์ (family) ของกบโบราณกับกบปัจจุบันช่วยให้นักบรรพชีวินวิทยาต่อจิ๊กซอว์ทฤษฎีการแยกกันของแผ่นทวีปซึ่งทำให้มาดากัสการ์แยกออกจากอเมริกาใต้ในช่วงที่กบบีลซีบูโฟมีชีวิตอยู่ ซึ่งการแยกแผ่นดินในครั้งนั้นทำให้กบโบราณไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางน้ำเค็ม ความเชื่อมโยงนี้ยังบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ว่ามาดากัสการ์เชื่อมโยงกับแอนตาร์กติการ์ซึ่งน่าจะมีอากาศอบอุ่นมากกว่าทุกวันนี้
       


       กบใหญ่ที่สุดในปัจจุบันพบในแอฟริกาตะวันตกเป็นกบยักษ์ (giliath frog) ซึ่งมีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตรและหนัก 3.3 กิโลกรัมแต่กบชนิดนี้ไม่มีความสัมพันธ์กับกบบีลซีบูโฟ
       
       ทั้งนี้มีกบอยู่บนโลกเมื่อ 180 ล้านปีมาแล้วและโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพของสัตว์ชนิดก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ส่วนกบปีศาจที่ทีมวิจัยพบนี้มีชีวิตอยู่ในยุคครีเตเชียส (Cretaceous) ซึ่งเป็นยุคที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์เมื่ออุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งชนโลกเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว
       
       กบบีลซีบูโฟไม่ได้ใช้ชีวิตยุ่งเกี่ยวกับน้ำหรือกระโดดท่ามกลางพรมหญ้า หากแต่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่กึ่งแห้งแล้ง ส่วนรูปแบบการล่าเหยื่ออาจคล้ายกับกบในปัจจุบันคืออำพรางตัวแล้วกระโดดเข้าหาเหยื่อ
       
       อย่างไรก็ดีแม้ว่ามันจะเป็นราชาแห่งกบแต่บูลซีบูโฟก็ไม่ได้เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่ใหญ่ที่สุด โดย "ไพรโอโนซูชัส" (Prionosuchus) ซึ่งมีลักษณะคล้ายจรเข้และมีความยาวถึง 9 เมตร คือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่ครองตำแหน่งใหญ่สุดและมีชีวิตอยู่ในยุคเพอร์เมียน (Permian Period) ที่สิ้นสุดไปเมื่อ 250 ล้านปีมาแล้ว...



ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th :  20 กุมภาพันธ์ 2551 12:25 น.



read more "ฟอลซิลปิศาจ กบยักษ์โบราณ กินลูกไดโนเสาร์เป็นอาหาร"

                                      ภาพวาดจำลองลักษณะของอัซห์ดาร์คิดชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานมีปีกที่มีชีวิตอยู่ในยุคไดโนเสาร์ โดยก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์คะเนว่าสัตว์ดังกล่าวจับปลาทะเลกินเป็นอาหารคล้ายนกนางนวล แต่ผลวิจัยใหม่ชี้ว่าเจ้าพวกอัซฮ์ดาร์คิดยังคงเดินหาเหยื่อที่เป็นไดโนเสาร์ขนาดเล็กบนบกกินเป็นอาหารนั่นเอง (Credit: Mark Witton)

นักวิจัยเมืองผู้ดีศึกษาใหม่ พบหลักฐานบ่งชี้ไดโนเสาร์มีปีกไม่ได้บินโฉบจับปลาทะเลกินเป็นอาหารอย่างที่คิด แต่กลับเดินตะคุ่มๆ ย่องเงียบ คอยจับเหยื่อบนบกกินเป็นอาหารเหมือนไดโนเสาร์กินเนื้อชนิดอื่น
       
       วารสารพีแอลโอเอส วัน (Public Library of Science One: PLoS One) ตีพิมพ์ผลการศึกษาฟอสซิลสัตว์เลื้อยคลานบินได้ในยุคดึกดำบรรพ์ของทีมนักวิจัยอังกฤษ ที่พบว่าสัตว์ดังกล่าวมิได้มีพฤติกรรมบินโฉบเหนือผิวน้ำ เพื่อจับปลาในทะเลกินเป็นอาหาร ทว่ากลับค่อยๆ เดินย่องตะครุบเหยื่อบนบกเหมือนไดโนเสาร์นักล่าตัวอื่นๆ
       
       ข่าวจากไลฟ์ไซน์ด็อตคอมรายงานว่า เทอโรซอร์ (pterosaur ) หรือสัตว์เลื้อยคลานมีปีกในยุคโบราณ ที่ดำรงชีวิตอยู่บนโลกในช่วง 230-65 ล้านปีก่อน ไม่ได้ล่าเหยื่อโดยการบินโฉบอย่างที่คิด แต่พวกมันกลับค่อยๆ เดินย่องเงียบก่อนที่จะเขมือบเหยื่อผู้โชคร้ายต่างหาก
       
       การค้นพบนี้ขัดกับแนวคิดก่อนหน้า ของนักบรรพชีวินที่มักจะเข้าใจว่าพวกเทอโรซอร์เป็นนักล่า ที่หาอาหารโดยการบินโฉบลงมาจับเหยื่อจำพวกปลา ที่แหวกว่ายอยู่ใต้ผิวน้ำตามทะเลหรือทะเลสาบเช่นเดียวกับพฤติกรรมการหาอาหารของนกนางนวลในปัจจุบัน
       
       "ตามทฤษฎีของพวกเรา การบินถือเป็นหลักการเคลื่อนที่ขั้นต้นเท่านั้น ที่พวกมันจะใช้วิธีนี้เพื่อเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง พวกเราคิดว่าการดำรงชีวิตหลักๆ ของพวกมัน ไม่ว่าจะเป็นการหาอาหารหรือการสืบพันธุ์ ย่อมกระทำเมื่ออยู่บนพื้นดิน มากกว่าขณะอยู่ในอากาศแน่นอน" คำชี้แจงของมาร์ค วิตตัน (Mark Witton) จากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ (University of Portsmouth) ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมที่ศึกษาเรื่องดังกล่าว
       
       ทั้งนี้วิตตันและทีมวิจัยได้ศึกษาพฤติกรรมการหาอาหารของพวกเทอโรซอร์ จากการวิเคราะห์ฟอสซิลของเทอโรซอร์กลุ่มที่ปราศจากฟัน หรือเรียกอีกอย่างว่า อัซห์ดาร์คิด (azhdarchid) ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานมีปีกขนาดใหญ่กว่าเทอโรซอร์ชนิดอื่นๆ โดยที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดหนักถึง 250 กิโลกรัม เมื่อกางปีกออกมีความกว้างราว 10 เมตร และลักษณะความสูงคล้ายกับยีราฟ
       ข้อมูลจากไทม์สออนไลน์รายงานว่า ไดโนเสาร์ชนิดนี้เป็นที่รู้จักครั้งแรกในช่วงทศวรรษที่ 70 และวิถีการดำรงชีวิตของพวกมัน ก็เป็นหัวข้อที่นักวิทยาศาสตร์นำมาโต้แย้งกันค่อนข้างมาก และชื่ออัซห์ดาร์คิดนี้มาจากภาษาอุซเบกิสถาน ซึ่งหมายถึงมังกร โดยในไซน์เดลียังระบุเพิ่มเติมว่าอัซห์ดาร์คิดนี้มีลักษณะคล้ายกับนกในยุคปัจจุบันบางชนิด คือ นกเงือกและนกกระสา
       
       วิตตันศึกษาตัวอย่างฟอสซิลของอัซห์ดาร์คิดที่พบในประเทศมากกว่า 50% และในเยอรมนีอีกบางส่วน ศึกษาตั้งแต่โครงกระดูกส่วนต่างๆ ตลอดจนช่วงคอ และขาหลัง เปรียบเทียบกับนกในยุคปัจจุบันที่หาอาหารโดยการร่อนเหนือผิวน้ำแล้วจับปลาในทะเลกิน ซึ่งพบว่าไม่สอดคล้องกันเลย
       
                                                  ลักษณะของสัตว์เลื้อยคลานมีปีกจำพวกเทอโรซอร์มี่มีรูปร่างสูงคล้ายยีราฟ และไม่ได้ใช้ปีกเป็นตัวช่วยในการจับเหยื่อแต่อย่างใด (ภาพจาก TIMESONLINE)


       "ข้อมูลทางกายวิภาคประกอบกับสิ่งแวดล้อมบริเวณที่ค้นพบฟอสซิลอัซห์ดาร์คิดเหล่านี้ก็บ่งชี้ว่าพวกมันดำรงชีวิตอยู่และหาอาหารโดยเดินไปเดินมาในบริเวณโดยรอบ ก้มหมอบให้ต่ำลง แล้วตะครุบจับเหยื่อในบริเวณนั้นกินเป็นอาหาร" คำอธิบายของดาร์เรน ไนช์ (Darren Naish) นักวิจัยในทีม
       นักวิจัยอธิบายเพิ่มเติมว่า สัตว์ที่จับปลาตามผิวน้ำกินเป็นอาหารอย่างเช่นนกนางนวลจะใช้จงอยปากล่างลากผ่านไปตามผิวน้ำจนกระทั่งกระทบถูกกับปลาหรือกุ้งแล้วจึงคาบขึ้นจากน้ำเพื่อกินเป็นอาหาร ถ้าหากว่าจงอยปากของพวกมันไปกระทบหรือกระแทกถูกสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ แรงกระแทกจากจงอยปากก็จะถูกส่งผ่านไปยังส่วนหัว ลำคอ และภายในร่างกาย ซึ่งอาจทำให้มันตกลงไปในน้ำได้ ดังนั้นพวกมันจึงต้องมีลำคอที่มีความยืดหยุ่นเป็นอย่างดีเพื่อป้องกันตัวเองเมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว
       ทั้งนกนางนวลและนกกระทุงก็มีลำคอที่มีคุณสมบัติเป็นดังว่า แต่ไม่ใช่กับลำคอของอัซฮ์ดาร์คิดที่นักวิจัยศึกษา ซึ่งแม้จะมีความยาวของช่วงลำคอราว 3 เมตร ทว่าแข็งทื่อเป็นอย่างมาก แต่ลำคอที่ยาวขนาดนั้นน่าจะเอื้อให้อัซห์ดาร์คิดเสาะหาสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กกว่าที่อยู่บนพื้นดินกินเป็นอาหารได้อย่างไม่ยาก แม้แต่ไดโนเสาร์ขนาดเล็กเท่ากบ
        เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้ไดโนเสาร์มีปีกไม่ได้บินหาอาหารเหนือผิวน้ำ นักวิจัยชี้ว่าเพราะมีเท้าขนาดเล็กในขณะที่มีร่างกายขนาดใหญ่ จึงเป็นอุปสรรคต่อการลุยน้ำหรือย่ำในดินโคลนอ่อนนุ่มด้วยเท้าเล็กๆ ที่ต้องแบกรับน้ำหนักตัวกว่า 1 ใน 4 ตัน...



ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th :  8 มิถุนายน 2551 21:39 น.

read more "ข้อมูลใหม่ ไดโนเสาร์มีปีก ย่องจับเหยื่อกินบนบก หาได้โฉบเหมือนนก"

บีบีซีนิวส์ - นักวิจัยนอร์เวย์เผยฟอสซิล "อสูรกายทะเล" ใหญ่ยักษ์สุดๆ ยาวได้ถึง 15 เมตร เฉพาะครีบก็ยาวถึง 3 เมตร ใช้ขากรรไกรขบรถเก๋งให้ขาดครึ่งได้สบาย ระบุสัตว์ดึกดำบรรพ์ยุคจูราสสิคนี้เป็นสัตว์เลื้อยคลานทางทะเลใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ

        นักวิทยาศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา มหาวิทยาลัยออสโล (University of Oslo Natural History Museum) ในนอร์เวย์ เผยตัวอย่างฟอสซิลอายุ 150 ล้านปีซึ่งพบเมื่อปี 2549 ที่สปิทสเปอร์เกน (Spitspergen) เกาะในอาร์กติกซึ่งอยูในแนวเดียวกับหมู่เกาะสวัลบาร์ด (Svalbard) โดยสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ในยุคจูราสสิกนี้เป็นหนึ่งในสัตว์เลื้อยคลานทะเล 40 ชนิดจากกองฟอสซิลอีกมากมายที่ยังไม่พบในเกาะดังกล่าว
        สัตว์เลื้อยคลานชนิดนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า "อสูรกาย" (The Monster) และคาดว่าสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ขนาดใหญ่นี้อาจมีความยาวจากจมูกถึงหาง 15 เมตร
       


       อสูรกายเลื้อยคลานที่พบเป็นชนิด "พีลิโอซอร์" (pliosaur) ซึ่ง ดร.จอร์น ฮูรัม (Dr.Jorn Hurum) ผู้อำนวยการคณะสำรวจดังกล่าวจากมหาวิทยาลัยพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาออสโล เผยว่าตัวอย่างที่พบในสวัลบาร์ดนั้นมีขนาดใหญ่กว่าสัตว์เลื้อยคลานทะเลขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งเคยพบก่อนหน้านี้จากออสเตรเลียที่ชื่อโครโนซอรัส (Kronosaurus) อยู่ถึง 20%
       "เมื่อรวมกับส่วนเล็กๆ ที่หายไปส่วนครีบจะมีความยาว 3 เมตร ทั้งนี้เราได้ประกอบชิ้นส่วนกระดูกทั้งหมดที่ฐานปฏิบัติการของเราและเราก็ต้องประหลาดใจกันเองเพราะเราไม่เคยเห็นชิ้นส่วนเหล่านี้ประกอบเข้าด้วยกันมาก่อนเลย" ดร.ฮูรัมกล่าว
       พีลิโอซอร์นั้นญาติคอสั้นของสัตว์เลื้อยคลานดึกดำบรรพ์พันธุ์ "พลีซิโอซอร์" (plesiosaur) ซึ่งเป็นกลุ่มของสัตว์เลื้อยคลานซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้วที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรระหว่างยุคของไดโนเสาร์ รูปร่างของพลีซิโอซอร์เป็นลักษณะหยดน้ำที่มีปีกอันทรงพลัง 1 คู่ซึ่งใช้คลื่อนตัวเองใต้น้ำ
       "สัตว์เหล่านี้เป็นนักล่าที่ทรงพลังอย่างน่าสะพรึงกลัว ถ้าคุณลองเปรียบเทียบกะโหลกของพีลิโอซอร์ขนาดใหญ่กับจรเข้ เป็นที่ชัดเจนว่าสัตว์ดึกดำบรรพ์มีโครงสร้างสำหรับกัดที่ดีกว่ามากๆ จากการเปรียบเทียบกับจรเข้คุณจะได้ขนาดกล้ามเนื้อใหญ่กว่า 3-4 เท่า จึงทั้งใหญ่กว่า มีกล้ามเนื้อที่ใหญ่และแข็งแรงกว่า และมีขากรรไกรที่แข็งแกร่ง พิลิโอซอร์ขนาดใหญ่นั้นใหญ่โตพอที่งับรถเก๋งแล้วกัดให้ขาดออกเป็น 2 ท่อนได้" ริชาร์ด ฟอร์เรสต์ (Richard Forrest) นักบรรพชีวินวิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องพลีซิโอซอร์กล่าว




        ด้านแองเจลา มิลเนอร์ (Angela Milner) ผู้ดูแลด้านบรรพชีวินวิทยาในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในลอนดอน อังกฤษกล่าวว่า การค้นพบนี้ก็ช่วยคลายข้อสงสัยได้มากให้กับความรู้เเรื่องนักล่าทางทะเลที่อยู่อันดับบนสุดของห่วงโซ่อาหาร การที่พีลิโอซอร์เป็นสัตว์เลื้อยคลานและต้องไม่ใช่สัตว์เลือดอุ่นอย่างแน่นอนนั้นเป็นการพิสูจน์ที่ดีถึงทฤษฎีเกี่ยวกับแผ่นดินโลกเคลื่อนที่และภูมิอากาศโบราณ เมื่อ 150 ล้านปีมาแล้วสวัลบาร์ดไม่ได้ใกล้กับขั้วโลกเหนือนัก บริเวณดังกล่าวไม่มีน้ำแข็งปกคลุมและสภาพอากาศก็อบอุ่นกว่าในปัจจุบัน
       


       ฟอสซิลของ "อสูรกาย" ถูกขุดขึ้นมาเมื่อเดือน ส.ค.ปีที่แล้วและถูกส่งไปยังพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในออสโล ซึ่งสมาชิกทีมในการค้นฟอสซิลสัตว์โบราณต้องเคลื่อนย้ายหินหนักหลายร้อยตันด้วยมือเปล่า ท่ามกลางลมพัดแรง หมอก ฝนและอุณหภูมิระดับเยือกแข็ง และการเผชิญการคุกคามจากการถูกจู่โจมโดยหมีขั้วโลก โดยสิ่งที่เขาเหล่านั้นค้นพบคือจมูก ฟันบางส่วน ปาก หลัง ไหล่และครีบที่เกือบจะสมบูรณ์ แต่โชคร้ายที่ส่วนหัววางอยู่ในตำแหน่งที่แม่น้ำไหลผ่าน ดังนั้นกะโหลกส่วนมากจึงถูกกระแสน้ำพัดหายไป...



ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th : 29 กุมภาพันธ์ 2551 11:24 น.



read more "ฟอสซิล อสูรกายทะเล ใหญ่ยักษ์สุดๆ แค่ครีบก็ 3 เมตร"

                                   ภาพสุสานของฟาโรห์เมนคาฮอร์ที่เพิ่งค้นพบอีกครั้ง (ภาพจากเนชันแนลจีโอกราฟิก)
ใครจะเชื่อว่าของใหญ่ๆ อย่าง "ปิรามิด" ที่เคยค้นพบไปแล้วเมื่อ 200 กว่าปีก่อน กลับสูญหายไปจากแผนที่ และกลับมาเป็นที่จดจำได้อีกครั้ง เมื่อนักโบราณคดีอียิปต์ค้นพบปิรามิดอายุร่วม 4 พันปีนี้ ฝังอยู่ในผืนทราย
       
       สำนักข่าวเอพีและเนชันแนลจีโอกราฟิก รายงานการค้นพบปิรามิดที่หายไป โดยระบุข้อมูลจาก ดร.ซาไฮ ฮาวาสส์ (Zahi Hawass) เลขาธิการสภาโบราณสถานแห่งอียิปต์ (Egypt's Supreme Council of Antiquities) และนักสำรวจในพื้นที่ของสมาคมเนชันแนลจีโอกราฟิก (National Geographic Society)
       
       ปิรามิดที่ค้นพบอีกครั้งนี้ สร้างขึ้นโดยฟาโรห์เมนคาฮอร์ (King Menkauhor) ซึ่งครองราชย์ได้เพียง 8 ปี ในช่วงกลางของยุค 2,400 ก่อนคริสตศักราช 
       
       ปิรามิดดังกล่าวเคยเป็นที่รู้จักในนาม "หมายเลข 29" (No.29) หรือ "ปิรามิดไร้หัว" (Headless Pyramid) ตามคำเรียกขานของ คาร์ล ริชาร์ด เลปซิอุส (Karl Richard Lepsius) นักโบราณคดีเยอรมัน ซึ่งตั้งชื่อนี้ขึ้น เมื่อปี 2385 เนื่องจากสัณฐานของสิ่งก่อสร้างที่เหลือเพียงฐาน แต่ต่อมาทะเลทรายค่อยๆ กลบโบราณสถานที่เขาค้นพบ จนหายไป จากนั้นก็ไม่มีใครได้พบปิรามิดแห่งนี้อีกเลย
       

                               ซาไฮ ฮาวาสส์ ยืนอยู่บริเวณปิรามิดที่เพิ่งค้นพบใหม่ โดยเบื้องหลังเขาคือฝาโลงที่ทำขึ้นจากหินแกรนิตสีเทา (ภาพจากเอพี) 
       "หลังการค้นพบของเลปซิอุส ตำแหน่งของปิรามิดก็ได้หายไป โครงสร้างของปิรามิดไม่เคยเป็นที่รับรู้ สถานที่แห่งนี้ถูกผู้คนลืม จนกระทั่งเราเริ่มต้นค้นหาในพื้นที่นี้ซึ่งเป็นสันทรายที่อาจจะสูงถึง 7.6 เมตร เราได้เติมเต็มช่องว่างของปิรามิดที่หายไป" ฮาวาสส์กล่าวกับผู้สื่อข่าวซึ่งร่วมเดินทางไปสำรวจพื้นค้นพบในเมืองซัคคาราของอียิปต์
       
       ทั้งนี้เมืองซัคคารา เป็นพื้นที่สำหรับประกอบพิธีฝังพระศพของคณะผู้ปกครองแห่งเมืองเมมฟิส (Memphis) เมืองหลวงของอาณาจักรอียิปต์โบราณ และอยู่ห่างไปทางตอนใต้ของกรุงไคโรเมืองหลวงปัจจุบันของอียิปต์ประมาณ 20 กิโลเมตร
       
       ไม่มีอะไรในปิรามิดแห่งนี้ ที่บ่งบอกถึงฟาโรห์ผู้เป็นเจ้าของ ดังนั้นนักโบราณคดีแห่งอียิปต์จึงต้องนำร่องรอยหลายๆ ชิ้นมารวมกันเพื่อที่จะจำแนกปิรามิดแห่งนี้ นักโบราณคดีรุ่นก่อนมีความขัดแย้งในเรื่องระบุอายุของปิรามิด ซึ่งโดยปกติก็จะจัดให้ปิรามิดอยู่ใน "อาณาจักรยุคเก่า" (Old Kingdom) ซึ่งเป็นช่วงเวลาระหว่าง 2,575-2,150 ปีก่อนคริสตศักราชและ "อาณาจักรยุคกลาง" (Middle Kingdom) ซึ่งเป็นช่วงเวลาระหว่าง 1,975-1,640 ปีก่อนคริสตศักราช
       

                                 ซาไฮ ฮาวาสส์ (กลางภาพ) นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมปิรามิดที่ค้นพบใหม่ (ภาพจากรอยเตอร์) 
       หากแต่การค้นพบล่าสุดประเมินว่า ปิรามิดแห่งนี้ขาดลักษณะที่เป็นลวดลายเขาวงกต อันเป็นสัญลักษณ์ของวิหารในยุคกลาง นอกจากนี้ตามคำอธิบายของฮาวาสส์ที่เนชันแนลจีโอกราฟิกรายงานไว้ระบุว่านอกจากไม่มีงานศิลปะและร่องรอยจารึกดังกลาวแล้ว โครงสร้างของปิรามิดยังใช้หินแกรนิตแดงซึ่งเป็นลักษณะของปิรามิดในอาณาจักรยุคเก่าด้วย ภายในห้องโถงที่อยู่ใต้ดินยังมีฝาปิดโลงพระศพที่ทำขึ้นจากหินแกรนิตสีเทาซึ่งเป็นประเภทของหินที่นิยมใช้ในอาณาจักรยุคเก่า
       อีกทั้งปิรามิดที่พบใหม่นี้ยังคล้ายคลึงกับปิรามิดที่อยู่ถัดไปซึ่งเป็นของ "เตติ" (Teti) ฟาโรห์องค์แรกในราชวงศ์ลำดับที่ 6 ของอียิปต์ที่คาดว่าปกครองอยู่ในช่วงปี 2345-2181 ก่อนคริสศักราช ซึ่งเป็นข้อมูลที่บ่งว่าปิรามิดที่เพิ่งค้นพบอีกครั้งนี้มาจากราชวงศ์ลำดับที่ 5 ของอียิปต์ นอกจากนี้ปิรามิดข้างเคียงยังบ่งชี้ว่าปิรามิดแห่งนี้เป็นของฟาโรห์เมนคาฮอร์แม้ยังไม่มีการค้นพบสุสานของพระองค์
       

                                           คนงานทำการขนย้ายหินจากเบื้องล่างของสุสานฟาโรห์ขณะที่สื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชม (ภาพจากจากเอพี)

       "มีปิรามิดของฟาโรห์มากมายที่ยังค้นไม่พบและปิรามิดแห่งนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น" ฮาวาสส์กล่าว
       นักโบราณคดียังประกาศอีกว่าการค้นพบครั้งนี้เป็นเส้นทางใหม่ของถนนบูชาเทพพระเจ้า (sacred road) ซึ่งอยู่ในยุคปโตเลเมอิก (Ptolemaic period) ที่มีอายุราว 2000 ปีหลังยุคอาณาจักรเก่า การค้นพบนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเมืองซัคคาราด้วย
       "ตลอดประวัติศาสตร์ทั้งหมดของอียิปต์ เมมฟิสและซัคคารามีความสำคัญอย่างยิ่ง ผมค้นสุสานในยุคราชวงศ์ลำดับที่ 26 ที่ซัคคาราซึ่งใช้สุสานของราชวงศ์ลำดับที่ 19 สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่บูชาพระเจ้า ดังนั้นบุคคลสำคัญๆ จึงอยากให้มีพิธีฝังศพของตัวเองที่นี่" คำอธิบายของโอลา เอล เอกุยซี (Ola El Aguizy) ศาสตราจารย์ทางด้านภาษาอียิปต์โบราณจากมหาวิทยาลัยไคโร (Cairo University)
       

                                   คนงานที่ขุดค้นปิรามิดที่เคยหายไปเมื่อ 200 ปีที่แล้ว (ภาพจากเอพี) 
       นักโบราณคดีหวังว่า เส้นทางนี้จะนำไปสู่การนำการค้นพบที่มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีแผนย้ายผู้ใช้แรงงานที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียงกับสุสานของฟาโรห์เมนคาฮอร์เพื่อที่จะได้ขยายไปสู่การค้นหาวิหารได้มากขึ้น
       "เมื่อผมพูดว่าเราได้คนพบอนุสรณ์สถานของอียิปต์ราว 30% แล้ว ผมยึดเอาพื้นที่ซัคคาราเป็นตัวอย่างแรก ซัคคาราเป็นพื้นที่อันบริสุทธิ์ ซึ่งมีความสำคัญสำหรับเรามากที่จะขุดค้นหาโบราณสถานเพื่อทำความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับปิรามิดของอาณาจักรเก่า" ฮาวาสส์กล่าว...




ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th : 11 มิถุนายน 2551 13:00 น.


read more "เจอแล้ว ปิรามิดล่องหน บันทึกครั้งสุดท้ายเมื่อ 200 ปีก่อน"

                          ภาพปฏิทินรอบยาว (Long Count) ของชาวมายาที่เพิ่งขุดพบ ซึ่งแสดงจำนวนวันเป็นคอลัมน์ บางคอลัมน์ยังนับต่อจากนี้ไปได้อีก 7,000 ปี (ภาพประกอบทั้งหมดจากเนชันนัลจีโอกราฟิก)


นักโบราณคดีขุดพบ “ปฏิทินมายา” เก่าแก่ที่สุด วาดระบายบนผนังซากอาคารของอาณาจักรที่ล่มสลายในป่าฝนของกัวเตมาลา ชี้ ไม่ใช่การนับถอยหลังวันสิ้นโลก แต่เป็นปฏิทินดาราศาสตร์และพิธีกรรมรักษาเวลาของเผ่าพันธุ์มายาโบราณ 

        รายงานจากเนเจอร์ (Nature) ระบุว่า ปฏิทินมายาที่เก่าแก่ที่สุดนี้ถูกพบอยู่ใต้กองเนินที่ลึกเข้าไปในป่าฝนของกัวเตมาลา ปฏิทินดังกล่าวเป็นภาพวาดที่ระบายบนผนังในห้องโถงเล็กๆ ซึ่งมีรายละเอียดทั้งวันเวลา ตาราง และภาพที่บรรยายถึงเทพเห่งจันทรา ทั้งนี้ เป็นการค้นพบของคณะสำรวจเมืองมายาแห่งซุลตัน (Xultan) ซึ่งเป็นเมืองที่เคยรุ่งเรืองเมื่อ 1,200 ปีมาแล้ว และเป็นช่วงเวลาที่สัมพันธ์กับอายุของจิตรกรรมฝาผนังดังกล่าว
       
                                        ซาตุราโนขูดเอาเศษต่างๆ ออกจากภาพวาดในห้องโถงของชาวมายาที่เพิ่งค้นพบ
       เดวิด สจ็วต (David Stuart) นักมานุษวิทยาจากมหาวิทยาลัยเทกซัสในออสติน (University Texas in Austin) และผู้ร่วมศึกษาภาพวาดปฏิทินมายา กล่าวว่าห้องที่ถูกค้นพบปฏิทินมายานั้นน่าจะเป็นสถานที่ทำงานของนักบวช อาลักษณ์ หรือนักดาราศาสตร์ ซึ่งสิ่งที่พวกเขาค้นพบนั้นก็คล้ายกระดานดำสำหรับจดงานในห้องทำงานของนักฟิสิกส์หรือนักคณิตศาสตร์
       ตารางรายการที่พบบนฝาผนังนั้นคล้ายเอกสารเดรสเดนโคเดกซ์ (Dresden Codex) ของชาวมายาที่โด่งดัง ซึ่งทำขึ้นจากเปลือกไม้และมีอายุย้อนไปในช่วงยุคโพสต์คลาสสิคตอนปลาย (Late Postclassic) ของอารยธรรมมายาซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ ค.ศ.1300 โดยภาพวาดแห่งซุลตันนี้เป็นเพียงแหล่งอ้างอิงเดียวของข้อมูลด้านดาราศาสตร์จากยุคคลาสสิคมายา (Classic Maya) ตอนต้น ที่อยู่ในช่วง ค.ศ.250-900
      
                                    ภาพวาดบุคคล 3 แบบ (ซ้าย) ภาพวาดชายสีดำซึ่งต้นฉบับมีภาพชายสีดำ 3 ภาพ เป็นภาพชาวมายาที่ไม่เคยพบที่ไหนมาก่อน ส่วนชายตรงกลางภาพคาดว่าเป็นอาลักษณ์ที่ถือแปรงระบายภาพ และขวาคือกษัตริย์ชาวมายา
       แม้ว่านักโบราณคดีจะทำแผนที่ของเมืองซุลตันมาตั้งแต่ปีทศวรรษ 1920 และ 1970 แต่การสำรวจพื้นที่ดังกล่าวเพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2010 ซึ่ง บิล ซาตุราโน (Bill Saturno) นักโบราณคดี จากมหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston University) ผู้เป็นหัวหน้าทีมนำสำรวจและร่วมเขียนรายงานวิจัยลงวารสารไซน์ (Science) กล่าวว่า ในช่วงปีที่เว้นว่างไปนั้นบริเวณขุดสำรวจถูกปล้นสมบัติและทำลายลงไปมาก
        ระหว่างการสำรวจเมื่อปี 2010 ศีรษะของ แมกซ์ แชมเบอร์เลน (Max Chamberlain) นักศึกษาของซาตุราโนได้ชนเข้ากับหลุมขุดค้นของนักปล้นสมบัติ และพบผนังยื่นออกมา ซึ่งผนังดังกล่าวมีการระบายลายเส้นสีขาวและสีแดง ซาตุราโนจึงตัดสินใจขุดต่อไปอีก 30 เซนติเมตร และพบภาพวาดจิตรกรรมของหนึ่งในผู้ปกครองเมืองซุลตันนั่งบนบัลลังก์ในชุดที่มีเครื่องประดับคลุมศระษะเป็นขนนกสีน้ำเงินสดใส 

                                                 ภาพกษัตริย์มายาซึ่งพบในห้องโถงที่นำมาวาดขึ้นใหม่
       ซาตุราโน กล่าวว่า การได้พบภาพวาดที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีนั้นเป็นเรื่องค่อนข้างน่าทึ่ง เพราะปกติเราไม่น่าจะได้พบภาพวาดเช่นนี้เหลืออยู่ เนื่องจากสภาพที่ไม่เอื้อต่อการเก็บรักษาในพื้นที่ลุ่มของป่าเขตร้อน เว้นแต่จะมีปัจจัยสภาพแวดล้อมที่พิเศษจริงๆ และการที่โครงสร้างของห้องดังกล่าวอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดินทุกวันนี้ประมาณ 1 เมตร ซึ่งช่วยปกป้องพื้นที่ดังกล่าวจากฤดูฝน แมลงและรุกล้ำของต้นไม้มานานกว่าพันปีได้
       “เราพบผนัง 3 ใน 4 ของผนังห้องทั้งหมดที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี ส่วนเพดานก็อยู่ในสภาพที่ดีด้วยเช่นกัน เมื่อมองในแง่ว่าภาพวาดยังอยู่ดี ดังนั้น เราจึงได้พบสิ่งที่แสนพิเศษกลับมามากกว่าสิ่งที่เราได้แลกไป” ซาตุราโน กล่าว
       ทั้งนี้ ผนังด้านทิศเหนือมีตัวเลขเรียงกัน ส่วนผนังด้านทิศตะวันออกมีตารางตัวเลขมายา 27 คอลัมน์ ซึ่งเขียนด้วยสัญลักษณ์เป็นขีดและจุด แต่บางสัญลักษณ์ก็อยู่ในสภาพไม่ดีนัก ซึ่งเขาและคณะจะบูรณะใหม่ภายหลังด้วยพื้นความรู้เดิมเกี่ยวกับการคำนวณปฏิทินมายา โดยพวกเขาบันทึกภาพหลักฐานเกี่ยวกับผนังดังกล่าวในช่วงกลางคืนซึ่งเป็นช่วงที่สามารถเก็บความรายละเอียดความแตกต่างระหว่างความมืดและความสว่างได้มากที่สุด
       
                                        ภาพวาดขึ้นใหม่จากภาพอาลักษณ์ที่พบในห้องโถงของชาวมายา
       จากการวิเคราะห์ของสจ็วต ตาราง 27 นั้นแสดงถึงวัน โดยแต่ละคอลัมน์นั้นมีวัน 177 หรือ 178 วัน และด้านบนแต่ละคอลัมน์มีเทพแห่งจันทราองค์ต่างๆ โดยเป็นที่ทราบกันว่าชาวมายาได้บันทึกการโคจรของดวงจันทร์เป็นคาบ 177 และ 178 วัน และตารางบนผนังดังกล่าวก็คล้ายคลึงสูตรคูณที่สัมพันธ์กับตารางจันทรุปราคาในหนังสือเดรสเดนโคเดกซ์ ซึ่งเขาสันนิษฐานว่าอาจเป็นการคำนวณว่าเทพเจ้าองค์ไหนจะนำดวงจันทร์ไปวันไหน
       
       ส่วนตารางของผนังทางทิศเหนือนั้นมีคอลัมน์ตัวเลข 4 คอลัมน์ แต่ละคอลัมน์แทนช่วงของวันที่จำเพาะเจาะจงตั้งแต่ 935 ปีจนถึง 6703 ปี ซึ่งจำนวนในคอลัมน์ทั้งสี่นั้นเป็นผลคูณของรอบปฏิทินมายา 52 ปี และอาจเป็นสิ่งแสดงถึงเหตุการณ์ที่มีการวนรอบใหม่ อย่างวัฏจักรของดวงจันทร์ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร และอาจจะรวมถึงดาวพุธด้วย โดยนักวิจัยคาดว่าสถานที่ดังกล่าวน่าจะมีผู้รักษาปฏิทินซึ่งมีหน้าที่ประสานจำนวนที่สอดคล้องกันครั้งใหญ่ของเหตุการณ์บนท้องฟ้าที่ขับเคลื่อนโดยเอกภพ
       
                                      ภาพชายสีดำ 3 คนที่พบในโถงของชาวมายาถูกนำมาวาดเลียนแบบใหม่ ซึ่งไม่เคยพบภาพบุคคลลักษณะเช่นนี้มาก่อน
       ทางด้าน เนชันนัลจีโอกราฟิก ระบุว่า ปฏิทินมายาที่ทีมสำรวจค้นพบนั้น มีการคำนวณวันเวลาอีก 7,000 ปีข้างหน้า ซึ่งให้หลักฐานแย้งความคิดที่ว่า ชาวมายาเชื่อว่าโลกจะสิ้นสุดในปี 2012 อันเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนในยุคนี้ที่ได้แรงบันดาลจากปฏิทินโบราณ โดย ซาตุราโน กล่าวว่า เขาและทีมก็พยายามค้นหาสิ่งที่บ่งชี้ถึงวันสิ้นโลก หากแต่ภาพจิตรกรรมที่พบนั้น ชี้ว่า ชาวมายาพยายามค้นหาสิ่งที่จะรองรับได้ว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
       
       ด้านผู้เชี่ยวชาญคนอื่นนั้น กล่าวว่า การค้นพบนี้เป็นงานเชิงคณิตศาสตร์ที่อาจจะทำเพื่อคำนวณหาข้อมูลเชิงปฏิทินอย่างที่พบได้ในหนังสือเดรสเดนโคเดกซ์และแหล่งอื่น ซึ่ง ฮาร์เวย์ บริคเกอร์ (Harvey Bricker) นักมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยฟลอริดา (University of Florida) และมหาวิทยาลัยทูเลนในลุยเซียนา (Tulane University in Louisiana) สหรัฐฯ ซึ่งไม่ได้ร่วมวิจัยด้วย กล่าวว่า อาจมีสถานที่อื่นคล้ายกันนี้อยู่อีก แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ห้องเช่นนี้ถูกค้นพบ...



ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th : 12 พฤษภาคม 2555 11:44 น.

read more "ขุดพบ ปฏิทินมายา เก่าแก่ที่สุดแต่ไม่ระบุโลกดับปี 2012"

                       ทีมวิจัยลงไปศึกษาบริเวณแหลมคาสซานดรา (Kassandra) ทางตอนเหนือของกรีซ ที่มีบันทึกการเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์โพเซดอน ที่เห็นลิบๆ คือโอลิมปัส เทือกเขาที่อยู่ของทวยเทพตามตำนาน (Klaus Reicherter)


คลื่นยักษ์ของเทพโพเซดอนที่กวาดล้างทหารเปอร์เซีย ปกป้องชาวกรีกให้พ้นจากภัยคุกคามนั้น แท้จริงแล้ว ก็คือ “สึนามิ” แห่งยุคโบราณ ที่นักธรณีวิทยายุคใหม่ชี้ชัดไว้ ซ้ำจากบันทึกอดีต ยังระบุว่า คลื่นดังกล่าวเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง กลายเป็นคำถามถึงความเสี่ยงของชายฝั่งพักร้อนในแถบทะเลเอเจียน
       เมื่อ 2,500 ปีก่อน เมืองชายฝั่งแห่งหนึ่งของกรีก รอดพ้นจากการรุกรานของทหารเปอร์เซีย ที่ยกกองกำลังมาทางเรือ พร้อมปล้นสะดม โดยจากบันทึกของ เฮโรโดตัส (Herodotus) นักประวัติศาสตร์แห่งยุคกรีกโบราณ บอกเล่าเหตุการณ์คลื่นยักษ์ที่พากองทหารเปอร์เซียหายสู่ทะเลต่อหน้าต่อตาชาวเมือง โดยพวกเขาเชื่อว่า เทพแห่งท้องทะเล คือ “โพเซดอน” ได้ช่วยเหลือ พร้อมทั้งได้ขนานนามคลื่นทะลุหนุนสูงว่า “โพเซดอนเวฟ” (Poseidon Wave)
       ทว่า จากการศึกษาหลักฐานในยุคดิจิทัลนี้ ได้ชี้ชัดว่า เหตุกาณ์อันเป็นตำนาน ที่เทพปกป้องมนุษย์จากการรุกรานนั้น แท้จริงคือปรากฏการณ์ธรรมชาติ และมันคือ “สึนามิ” ที่เราคุ้นหูกันนี่เอง ซึ่งนับเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ที่ต้องใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์เข้าขยายความ
       
                            ภาพแสดงพื้นที่ของกรีซ (อ่าวเทอร์มาอิคอส) บริเวณจุดสีแดงคือพื้นที่ที่มีการเซาะของโคลน ซึ่งพบชั้นทรายที่มีการใช้พลังคลื่นสูงเพื่อนำพามาทับถม ทำให้ตีความว่าอาจจะเคยเกิดสึนามิมาก่อน (Klaus Reicherter, RWTH Aachen University)


       เคลาส์ ไรชเออร์เตอร์ (Klaus Reicherter) นักภูมิศาสตร์ชาวเยอรมัน แห่งมหาวิทยาลัยอาเคิน (Aachen University) ในเยอรมนี ได้ศึกษาหลักฐานทางภูมิศาสตร์ของเหตุการณ์ จนมีข้อสรุปดังกล่าว พร้อมทั้งเสนอไว้ในการประชุมของสมาคมแผ่นดินไหวแห่งอเมริกา (Seismological Society of America) เมื่อช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยอาวเออร์อะเมซิงแพลเน็ต (OurAmazingPlanet) ได้นำมารายงาน
       ข้อความของเฮโรโดตัส เขียนเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปัจจุบันคือ บริเวณแหลมคาสซานดรา (Kassandra) ทางตอนเหนือของกรีซ มุ่งสู่เมืองเนียโพทีเดีย (Nea Potidea) ว่า ขณะที่กองทัพเรือของเปอร์เซียกำลังมุ่งหน้าเข้ามาที่ชายฝั่ง น้ำทะเลก็เริ่มลดแห้งลง แต่ยังไม่ทันที่ผู้บุกรุกจะได้เหยียบแผ่นดิน ท้องทะเลก็คำรามพร้อมกับคลื่นยักษ์หนุน ดูดกลืนทหารเปอร์เซียหายไปสิ้น ทำให้ชาวเมืองปลอดภัยจากการรุกราน
      
                      
โพเซดอน เทพแห่งท้องทะเลที่ชาวกรีกนับถืออันดับต้นๆ เพราะประเทศติดทะเล
       “กระแสน้ำขนาดใหญ่จากทะเลหนุน สูงขึ้นมากกว่าที่เคยเห็นมาก่อน และในฐานะที่เป็นคนที่นี่ เชื่อว่า กระแสน้ำหนุนสูงเช่นนี้ มีเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง” เฮโรโดตัสบันทึกไว้ ในสิ่งที่เห็นกับตาพร้อมกับชาวเมืองเนียโพทีเดีย
        ทว่า การบรรยายเหตุการณ์คลื่นทะเลที่กลืนทหารเปอร์เซียไปนั้น ทำให้ไรชเออร์เตอร์ แน่ใจว่า นั่นคือ รูปแบบการเกิดสึนามิ และยังแสดงให้เห็นว่า บริเวณชายฝั่งทะเลเอเจียน แถบนั้นน่าจะมีคลื่นสึนามิเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากกว่าที่เราคิด


                                 ภาพสะท้อนความเชื่อที่เทพแห่งทะเลจะคอยช่วยปกป้องชาวกรีกจากการรุกราน
       
       “ถ้าหลักฐานจากการบันทึกทางประวัติศาสตร์เหล่านั้นถูกต้องจะต้องเข้าไปประเมินที่บริเวณชายฝั่งดังกล่าว” ไรชเอร์เตอร์ กล่าว เพราะจากบันทึกของเฮโรโดตัส ที่บอกว่า เห็นน้ำทะเลขึ้นสูงบ่อยครั้ง ทำให้เกิดคำถามว่า ชายฝั่งบริเวณนั้นจะมีความปลอดภัยหรือไม่ เพราะปัจจุบันกลายเป็นสถานที่พักร้อนยอดนิยมในแถบนั้นไปเสียแล้วด้วย
       ทั้งนี้ ไรชเออร์เตอร์ เปิดเผยว่า ความเชื่อว่าสึนามิที่ชายฝั่งของกรีซ มีอยู่จริงไม่ใช่แค่จากบันทึกเรื่องเล่าโบราณ แต่พื้นดินที่อยู่ใกล้กับเมืองเนียโพทีเดีย นักวิจัยได้ขุดพบชั้นทรายที่คลื่นสึนามิพามาทับถมไว้ และยิ่งกว่านั้น สภาพทางภูมิศาสตร์ในบริเวณดังกล่าวยังมีความเป็นไปได้ในการก่อรูปร่างคลื่นยักษ์ขนาดใหญ่ ซึ่งก้นทะเลที่มีลักษณะเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ใกล้กับชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรีซ
       
                                เฮโรโดตัสนักประวัติศาสตร์แห่งยุคกรีกโบราณ ผู้บันทึกเรื่องราวของคลื่นโพเซดอน อันเป็นร่อยรอยของสึนามิโบราณ


       จากข้อมูลดังกล่าว เมื่อไรชเออร์เตอร์ และทีมได้สร้างแบบจำลองขึ้นมา ทำให้เห็นว่า มีปัจจัยมากพอที่จะก่อให้เกิดแผ่นดินไหวและแผ่นดินถล่ม รวมถึงคลื่นยักษ์สึนามิสูงราว 2-5 เมตร


       ทั้งนี้ งานวิจัยของไรชเออร์เตอร์เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาประเมินผลกระทบของสึนามิโบราณ เพื่อจะพิจารณาว่าพื้นที่ส่วนใดที่เสี่ยงต่อการถูกทำลายด้วยคลื่นยักษ์ และยังช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเตรียมการรองรับภัยธรรมชาติอาจจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า...



ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th : 1 พฤษภาคม 2555 16:20 น.

read more "มหาคลื่นแห่งเทพโพเซดอนปกป้องชาวกรีก ที่แท้คือ สึนามิ"

                        นักวิทยาศาสตร์พบโครงสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ปากแผลของ "เอิตซี" มนุษย์น้ำแข็ง (บีบีซีนิวส์)

นักวิจัยศึกษาร่างของ “เอิตซี” มนุษย์น้ำแข็งอายุ 5,300 ปี โดยร่างของเขาถูกพบแช่แข็งอยู่ในเทือกเขาแอลป์ของอิตาลี เมื่อปี 1991 และนักวิทยาศาสตร์ได้เห็นเม็ดเลือดแดงรอบๆ บาดแผลของเขา ซึ่งปกติเม็ดเลือดแดงจะเสื่อมสลายไปอย่างรวดเร็ว แต่การสแกนหาเลือดภายในร่างของเขาก่อนหน้านี้ก็ไม่พบอะไร 
       
       หากแต่ล่าสุดการศึกษาของทีมวิจัยซึ่งตีพิมพ์ผลงานลงวารสารเดอะเจอร์นัลออฟเดอะรอยัลโซไซตีอินเทอร์เฟซ (the Journal of the Royal Society Interface) แสดงให้เห็นว่า ร่างของเอิตซี (Oetzi) ถูกเก็บรักษาไว้ได้อย่างดีเยี่ยม แม้กระทั่งเลือดที่หลั่งมาในช่วงสั้นๆ ก่อนเขาเสียชีวิต และบีบีซีนิวส์ ยังระบุว่า การค้นพบครั้งนี้เผยเซลล์เม็ดเลือดแดงเก่าแก่ที่สุดที่ถูกเก็บรักษาไว้ และเป็นบทล่าสุดของปริศนาการฆาตกรรมอันเก่าแก่ที่สุดในโลก
       
       นับแต่ เอิตซี ถูกค้นพบโดยนักปีนเขาซึ่งพบว่ามีลูกศรปักที่หลังเขาด้วย ผู้เชี่ยวชาญก็ได้ตัดสินว่าเขาตายจากบาดแผล และยังได้ประเมินด้วยว่าอาหารมื้อสุดท้ายของเขาคืออะไร และยังมีการถกเถียงกันในวงกว้างว่าร่างของเขาถูกฝังหลังจากเขาพลัดตกตอนเสียชีวิตหรือว่าเขาถูกคนอื่นนำไปฝั่งที่นั่น
       
       เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ศ.อัลเบิร์ต ซิงค์ (Albert Zink) และคณะร่วมงานจากสถาบันมัมมีและมนุษย์น้ำแข็ง (Institute for Mummies and the Iceman) ในอิตาลี ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ข้อมูลจีโนมทั้งหมดของเอิตซี และการศึกษาก่อนหน้านี้ของกลุ่มที่ตีพิมพ์ลงวารสารการแพทย์แลนเซท (Lancet) ได้เผยให้เห็นว่าบาดแผลบนมือของเอิตซีนั้นมีฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในเลือดอยู่ตรงบาดแผลดังกล่าว แต่เชื่อกันว่าธรรมชาติของเซลล์เม็ดเลือดแดงที่แตกหักง่ายนั้นจะทำให้เราเก็บรักษาเม็ดเลือดแดงได้ยากลำบาก 
       
                                      การศึกษาของทีมวิจัยพบโครงสร้างรูปโดนัทคล้ายเซลล์เม็ดเลือดแดงในตัวอย่างเนื้อเยื่อของ "เอิตซี" (บีบีซีนิวส์)
       ศ.ซิงค์ และคณะ ได้ร่วมมือกับทีมวิจัยจากศูนย์สมาร์ทอินเทอร์เฟซ (Center for Smart Interfaces) ในมหาวิทยาลัยดาร์มสตัดท์ (University of Darmstadt) เยอรมนี เพื่อประยุกต์ใช้กล้องจุลทรรศน์แรงอะตอม (atomic force microscopy) ศึกษาเนื้อเยื่อบางๆ ที่ตัดมาจากบริเวณบาดแผลที่ถูกลูกศรปัก ซึ่งเทคนิคการศึกษาคือใช้ปลายเข็มเล็กๆ ชี้ไปที่ตัวอย่างเนื้อเยื่อด้วยความห่างเพียงไม่กี่อะตอมแล้วลากปลายเข็มไปทั่วพื้นผิวของตัวอย่าง และการเคลื่อนไหวของปลายเข็มจะถูกติดตามและแปรผลออกมาเป็นแผนภาพสามมิติที่มีความละเอียดสูงมาก
        ทีมวิจัยพบว่า ตัวอย่างเนื้อเยื่อจากเอิตซีมีโครงสร้างบางอย่างที่มีรูปร่างเหมือนโดนัทคล้ายกับเซลล์เม็ดเลือดแดง เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าโครงสร้างที่พบนั้นเป็นเซลล์ที่ถูกเก็บรักษามานานและไม่ใช่การปนเปื้อนแต่อย่างใด พวกเขาจึงใช้เทคนิคทางเลเซอร์โดยนำเครื่องรามันสเปกโตรสโคปี (Raman spectroscopy) มาใช้ และผลก็ยืนยันว่าพบฮีโมโกลบินและไฟรบิน (fibrin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำให้เลือดจับตัวเป็นลิ่ม
        จากสิ่งที่ตรวจพบทำให้ ศ.ซิงค์ อธิบายไปถึงปริศนาการถูกฆาตกรรมของเอิตซีได้ เนื่องจากจะพบโปรตีนไฟบรินในแผลสดจากนั้นก็จะเสื่อมสลายไป ดังนั้น ทฤษฎีที่ว่ามนุษย์โบราณคนนี้เสียชีวิตในหลายวันหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บนั้นน่าจะถูกโต้แย้ง และไม่น่าจะได้รับการสนับสนุนอีกต่อไป อีกทั้งทีมวิจัยยังบอกด้วยว่าวิธีศึกษาของพวกเขาอาจนำมาใช้ปรับปรุงการศึกษานิติวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันได้ โดยเฉพาะในกรณีที่เราประเมินอายุของตัวอย่างเลือดได้ยาก...


ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th : 5 พฤษภาคม 2555 14:03 น.


read more "พบเม็ดเลือดแดงเก่าแก่ที่สุดในร่างมนุษย์น้ำแข็ง เอิตซี"
 

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

Blogger templates

Blogroll

Blogger news